Friday, September 02, 2005

[Dharma] The Five Skhandas

1. รูป 1.สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูต หรือ ธาตุ ๔ และ อุปาทายรูป ๒๔ (= รูปขันธ์ในขันธ์ ๕) 2.อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖) 3.ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป ; ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์


2. เวทนา
ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑.สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒.ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓.อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา; อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑.สุข สบายกาย ๒.ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓.โสมนัส สบายใจ ๔.โทมนัส ไม่สบายใจ ๕.อุเบกขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี

3. สัญญา
การกำหนดหมาย, ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่น ทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก (ข้อ ๓ ในขันธ์ ๕) มี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น เช่น รูปสัญญา หมายรู้รูป สัททสัญญา หมายรู้เสียง เป็นต้น; ความหมายสามัญในภาษาบาลีว่าเครื่องหมาย ที่สังเกตความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้น ๆ, ในภาษาไทยมักใช้หมายถึง ข้อตกลง, คำมั่น

4. สังขาร ๑.สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, ตรงกับคำว่า สังขตะหรือสังขตธรรม ได้ในคำว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น ๒.สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ มีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล และที่กลาง ๆ เป็นอัพยากฤต ได้แก่เจตสิก ๕๐ อย่าง (คือ เจตสิกทั้งปวง เว้นเวทนาและสัญญา) เป็นนามธรรมอย่างเดียว, ตรงกับสังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น; อธิบายอีกปริยายหนึ่ง สังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่ สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่างคือ ๑.กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา ๒.วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา ๓.จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา ๓.สภาพที่ปรุงแต่งชีวิตมี ๓ คือ ๑.กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ๒.วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร ๓.จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา

สังขาร ๒ คือ ๑.อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง ๒.อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมไม่ครอบครอง, โดยปริยายแปลว่า สังขารที่มีใจครอง และสังขารที่ไม่มีใจครอง

สังขารทุกข์ ทุกข์เพราะเป็นสังขาร คือเพราะเป็นสภาพอันถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น จึงต้องผันแปรไปตามเหตุปัจจัยเป็นสภาพอันปัจจัยบีบคั้นขัดแย้ง คงทนอยู่มิได้

สังขารโลก โลกคือสังขาร ได้แก่ชุมชนแห่งสังขารทั้งปวงอันต้องเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย


5. วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑.จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา(เห็น) ๒.โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓.ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก(ได้กลิ่น) ๔.ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น(รู้รส) ๕.กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖.มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

No comments: