โพสต์เกี่ยวกับ พระสูตรที่ว่าด้วยธรรมอันน่าอรรศจรรย์ 8 ประการ เอามาจาก
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่ลิงค์ (ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากพระไตรปิฏกแบบโดยตรงอีกทีหนึ่ง)
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9470000060266
พระสูตร นี้ว่าด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ และพรรณนา ถึงการเข้าร่วมอุโบสถกรรมครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าด้วย มีความโดยละเอียดดังนี้
สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาท ที่นางวิสาขาสร้างถวาย ครั้นถึงวันอุโบสถ พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ในท่ามกลางสงฆ์เพื่อทำอุโบสถกรรม เมื่อปฐมยามแห่งราตรีสิ้นไปแล้ว พระอานนท์ลุก ขึ้นจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค เจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด”
พระพุทธองค์ทรงรับฟังแล้วทรงนิ่งอยู่ ครั้นราตรี ล่วงมัชฌิมยาม พระอานนท์ก็กราบทูลเชิญอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนิ่งอยู่ จนราตรีล่วงปัจฉิมยาม อรุณขึ้นแล้ว จวนสว่างแล้ว พระอานนท์จึงกราบทูลเชิญเป็น ครั้งที่ ๓ พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ดูกรอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์”
พระมหาโมคคัลลานะเมื่อสดับพุทธดำรัสดังนั้น จึงดำริว่าทรงหมายถึงใครหนอ? แล้วท่านกำหนดดูใจของภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมอยู่ ณ ที่นั้นด้วยฤทธิ์ของท่าน ท่านพิจารณาเห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่เป็น สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี แต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี ผู้เน่าใน ผู้อันราคะรั่วรดแล้ว ผู้เป็นดุจหยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ท่านลุก จากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น แล้วกล่าวว่า
“จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่าน แล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย”
บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่ พระมหาโมคคัลลานะได้กล่าว กับเขาอีก ๒ ครั้ง ซึ่งเขาก็นิ่งอยู่ ที่สุดพระมหาโมคคัลลานะจึงจับแขนเขา แล้วฉุดออกไปที่ประชุมสงฆ์ ส่งออก ไปจากบุพพาราม พร้อมปิดประตูอารามไว้ แล้วท่านกลับมายังที่ประชุมสงฆ์ กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออก ไปแล้ว บริษัทบริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูกรโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว โมฆบุรุษนี้อยู่จนกระทั่งต้องจับแขนฉุดออกไป.. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้ไป เรา จักไม่กระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ การที่ตถาคตจะพึง กระทำอุโบสถแสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส” แล้วทรงแสดงปาติโมกข์ครั้งสุด ท้ายต่อไป
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่พวกอสูรเห็นแล้วพา กันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ในธรรมวินัยนี้ ก็มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่ภิกษุเห็นแล้วพากันยินดีอยู่ในธรรมวินัยฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมทั้ง ๘ ประการ มีดังนี้
ในธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง เปรียบเหมือนมหาสมุทร ที่ลาดลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาประการที่ ๑
ประการที่ ๒ สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบท ที่เราบัญญัติแล้ว แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เปรียบเสมือนมหาสมุทรที่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง
ประการที่ ๓ บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วย ราคะ เป็นดุจหยากเยื่อ สงฆ์ไม่ยอมอยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่าม กลางภิกษุสงฆ์ แต่เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่เกลื่อนกล่น ด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพในมหาสมุทร เข้าฝั่ง ให้ขึ้นบก
ประการที่ ๔ วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าพระ-สมณศากยบุตรทั้งนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ๆ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง
ประการที่ ๕ แม้ภิกษุทั้งหลายเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิ ได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็ไม่ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม
ประการที่ ๖ ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม
ประการที่ ๗ ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะเหล่านี้คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะเหล่านี้คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วมรกต
ประการที่ ๘ ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ พระโสดาบัน (ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล) พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่พำนักของสิ่ง มีชีวิตใหญ่ ๆ อันได้แก่ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ แม้จะมีร่างกายใหญ่ประมาณร้อยโยชน์ สองร้อยโยชน์ สามร้อยโยชน์ ฉะนั้น
ในที่สุดแห่งปาติโมกข์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “ฝน คือกิเลส ย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่ง ที่เปิด เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้เสีย ฝน คือกิเลส ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้นอย่างนี้”
จากพระสูตรนี้ ทำให้ทราบว่า สังฆกรรมอุโบสถ คือปาติโมกข์ เป็นการแสดงธรรมโดยพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงงดร่วมสังฆกรรมอุโบสถแล้ว ภิกษุสงฆ์ผู้จดจำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ได้ ก็นำมาแสดงต่อที่ประชุมสงฆ์ ต่อมาได้แสดงถึงพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้น และถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment